Locarno, Treaties of; Locarno Pacts (1925)

สนธิสัญญาโลคาร์โน; กติกาสัญญาโลคาร์โน (๒๔๖๘)

​​​​​    สนธิสัญญาโลคาร์โนหรือที่เรียกกันว่ากติกาสัญญาโลคาร์โนเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างชาติรวม ๗ ฉบับซึ่งประเทศในยุโรป ๗ ประเทศคือ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เบลเยียม โปแลนด์ และเชโกสโลวะเกีย (Czechoslovakia) ตกลงร่วมกันในการประชุมที่เมืองโลคาร์โนประเทศสวิตเซอร์แลนด์ระหว่างวันที่ ๕-๑๖ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๕ มีการลงนามในสนธิสัญญาโลคาร์โนอย่างเป็นทางการที่กรุงลอนดอนเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๒๕ อาร์เทอร์ เจมส์ บัลฟอร์ เอิร์ลที่ ๑ แห่งบัลฟอร์ (Arthar James Balfour, 1st Earl of Balfour) ประธานสภาองคมนตรี (Lord President of the Council) ในสมัยนายกรัฐมนตรีเดวิด ลอยด์ จอร์จ (David Lloyd George)* และสแตนลีย์ บอลด์วิน (Stanley Baldwin)* กล่าวยกย่องสนธิสัญญาโลคาร์โนว่าเป็นการเริ่มต้นความสมานฉันท์และความเข้าใจอันดีร่วมกันของ พลเมืองในยุโรป ทำให้ความเกลียดชังและความประสงค์ร้ายถูกแทนที่ด้วยสันติภาพระหว่างประเทศและความร่วมมืออันดีระหว่างชาติ

    สนธิสัญญาโลคาร์โนเป็นผลสืบเนื่องจากกุสทาฟ ชเตรเซมันน์ (Gustav Stresemann)*รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีซึ่งขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic)* ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๓ เห็นความจำเป็นที่จะปรับความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างเยอรมนีกับฝรั่งเศสให้ดีขึ้น ชเตรเซมันน์ได้ใช้โอกาสในช่วงที่เยอรมนียอมรับแผนดอส์ (Dawes Plan)* ใน ค.ศ. ๑๙๒๔ เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศสร้างความสัมพันธ์กับอังกฤษและโดยเฉพาะฝรั่งเศสเรื่องเส้นเขตแดน ฝรั่งเศสซึ่งกังวลต่อปัญหาความมั่นคงและการเกิดสงครามจึงพร้อมที่จะเปิดการเจรจาด้วย ส่วนอังกฤษ สแตนลีย์ บอลด์วิน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษใน ค.ศ. ๑๙๒๔ จากพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)* ก็ต้องการสานต่อนโยบายของเจมส์ แรมเซย์ แมกดอนัลด์ (James Ramsay MacDonald)* อดีตนายกรัฐมนตรีจาก พรรคแรงงาน (Labour Party)* คนแรกในการร่วมมือกับเยอรมนี ในฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๒๕ อังกฤษ ฝรั่งเศส และ เยอรมนีจึงหารือกันอย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับการจัดประชุมระหว่างประเทศขึ้นเพื่อตกลงปัญหาเส้นเขตแดนตามที่ สนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles ค.ศ. ๑๙๑๙)* กำหนดไว้
    โจเซฟ ออสเตน เชมเบอร์เลน (Joseph Austen Chamberlain ค.ศ. ๑๘๘๓-๑๙๓๑)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษมีบทบาทสำคัญในการจัดประชุมระหว่างประเทศขึ้นที่เมืองโลคาร์โนซึ่งตั้งอยู่บริเวณทะเลสาบมาโจเร (Maggiore) เขาโน้มน้าวอาริสตีด บรียอง (Aristide Briand ค.ศ. ๑๘๘๒-๑๙๓๒)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสให้เข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อแก้ไขความบาดหมางระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนีและหาแนวทางป้องกันการเกิดสงคราม ชเตรเซมันน์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนีสนับสนุนเรื่องการจัดประชุมระหว่างประเทศอย่างมาก เพราะเขาต้องการให้เยอรมนีกลับมามีบทบาทสำคัญในการเมืองระหว่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง ทั้งเชื่อมั่นว่าการประชุมที่มีขึ้นจะนำไปสู่การสร้างสันติภาพในยุโรป ชเตรเซมันน์ยังเชิญประเทศยุโรปอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมด้วยการประชุมที่โลคาร์โนระหว่างวันที่ ๕-๑๖ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๕ จึงประสบความสำเร็จ และเต็มไปด้วยบรรยากาศอัน "หวานชื่นและสดใส" (sweetness and light) จนผู้เข้าร่วมประชุมต่างเชื่อมั่นว่าเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ สงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ที่ยุโรปได้ร่วมมือกันเพื่อสันติภาพและความเข้าใจอันดีระหว่างกัน
     ประเทศที่เข้าร่วมประชุมซึ่งประกอบด้วยอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เบลเยียม โปแลนด์ และเชโกสโลวะเกียได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาโลคาร์โนซึ่งมีทั้งหมด ๗ ฉบับโดยแบ่งออกเป็น ๓ ชุด ชุดแรกมี ๑ ฉบับเป็นข้อตกลงระหว่างเยอรมนีกับฝรั่งเศส และเบลเยียมกับเยอรมนีว่าด้วยการค้ำประกันเขตแดนด้านตะวันตกระหว่างเยอรมนี ฝรั่งเศส และเบลเยียม ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาแวร์ซาย รวมทั้งข้อตกลงที่กำหนดให้ดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำไรน์ลึก ๘๐ กิโลเมตร เป็นเขตปลอดทหาร และการโอนแคว้นอัลซาซ-ลอแรน (Alsace-Lorraine)* ให้แก่ฝรั่งเศสอย่างถาวร เยอรมนีจะไม่ใช้สงครามเป็นเครื่องมือแก้ไขข้อพิพาทกับฝรั่งเศสหรือเบลเยียม และจะใช้วิธีทางการทูตเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งเยอรมนี ฝรั่งเศส และเบลเยียมตกลงที่จะไม่รุกรานซึ่งกันและกัน หากประเทศใดประเทศหนึ่งละเมิดข้อตกลง ประเทศคู่สัญญาที่เหลือจะเข้าช่วยเหลือประเทศที่ถูกรุกรานทันที อังกฤษและอิตาลีเป็นผู้ค้ำประกันข้อตกลงในสนธิสัญญาฉบับนี้
     ชุดที่ ๒ เป็นสัญญาว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ (arbitration treaties) ๔ ฉบับ ระหว่างเยอรมนีกับประเทศคู่สัญญา ๔ ประเทศ คือ ฝรั่งเศส เบลเยียม โปแลนด์ และเชโกสโลวะเกีย เนื้อหาเหมือนกันทั้ง ๔ ฉบับ กล่าวคือ ข้อพิพาทระหว่างประเทศที่ไม่สามารถตกลงกันได้โดยวิธีทางการทูตจะต้องนำเสนอต่อคณะอนุญาโตตุลาการของสันนิบาตชาติ (League of Nations)* เพื่อพิจารณา แต่หากยังไม่สามารถตกลงกันได้อีกก็ให้ศาลยุติธรรมถาวรระหว่างประเทศ (Permanent Court of International Justice - PCIJ) เป็นผู้ตัดสินชี้ขาด
     ชุดที่ ๓ เป็นข้อตกลงร่วมมือทางทหาร ๒ ฉบับระหว่างฝรั่งเศสกับโปแลนด์ และระหว่างฝรั่งเศสกับเชโกสโลวะเกีย เป็นสนธิสัญญาที่เน้นความเป็นพันธมิตรในสนธิสัญญาที่ทำกับโปแลนด์เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๑ และกับเชโกสโลวะเกียเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ค.ศ. ๑๙๒๔ สาระของสนธิสัญญาทั้งสองมีเนื้อหาเหมือนกันทั้ง ๔ มาตรา คือ หากประเทศคู่สัญญาถูกเยอรมนีรุกรานและได้รับความเสียหายจากการรุกราน อันสืบเนื่องจากความล้มเหลวของสนธิสัญญาฉบับ ค.ศ. ๑๙๒๑ และ ค.ศ. ๑๙๒๔ ประเทศคู่สัญญาจะร่วมมือช่วยเหลือกันและกันที่จำเป็นทั้งทางทหารและอื่น ๆ
    หลังการให้สัตยาบันสนธิสัญญาทั้ง ๗ ฉบับแล้ว สนธิสัญญาทุกฉบับจะเก็บไว้ที่สันนิบาตชาติ และเลขาธิการสันนิบาตชาติจะทำสำเนาให้แต่ละประเทศที่เกี่ยวข้อง สนธิสัญญาโลคาร์โนได้สร้างบรรยากาศความร่วมมือและความเข้าใจอันดีให้เกิดขึ้นทั่วยุโรปจนเชื่อกันว่า "จิตวิญญาณแห่งโลคาร์โน" (the spirit of Locarno) คือสัญลักษณ์แห่งความหวังของช่วงสมัยสันติภาพและความมีมิตรไมตรีระหว่างประเทศ ผลที่สำคัญประการหนึ่งคือเยอรมนีมีสถานภาพเท่าเทียมประเทศพันธมิตรและได้เข้าเป็นสมาชิกสันนิบาตชาติในปีต่อมา
     ความสำเร็จของสนธิสัญญาโลคาร์โนทำให้ออสเตน เชมเบอร์เลนได้รับการยกย่องทั้งภายในและภายนอกประเทศในฐานะผู้ยุติแรงกดดันทางการเมืองระหว่างประเทศในเวลานั้น และเขาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนนางส่วนชเตรเซมันน์ก็ได้รับยกย่องเป็นรัฐบุรุษเพราะเขาทำให้เส้นเขตแดนด้านตะวันตกของประเทศมีความมั่นคงเพราะฝรั่งเศสจะไม่สามารถ บุกรุกเข้ามาได้ง่ายเหมือนเมื่อครั้งการยึดครองแคว้นรูร์ (Rhur) ใน ค.ศ. ๑๙๒๓ ขณะเดียวกันเยอรมนีก็ให้หลักประกันความมั่นคงแก่นักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศ นอกจากนี้ เยอรมนียังสามารถเจรจาให้คณะกรรมาธิการควบคุมทางทหารฝ่ายสัมพันธมิตร (Inter-Allied Military Control Commission) ถอนกำลังออกจากการควบคุมดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำไรน์ได้ก่อนกำหนดถึง ๕ ปี สนธิสัญญาโลคาร์โนยังทำให้ทั้งชเตรเซมันน์และอาริสตีด บรียองได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกันใน ค.ศ. ๑๙๒๖ ด้วย
     อย่างไรก็ตาม สหภาพโซเวียตซึ่งมีโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin ค.ศ. ๑๘๗๙-๑๙๕๓)* เป็นผู้นำเห็นว่าสนธิสัญญาโลคาร์โนเป็นความพยายามของประเทศทุนนิยมตะวันตกที่มุ่งคุกคามสหภาพโซเวียตด้วยการดำเนินนโยบายโดดเดี่ยวสหภาพโซเวียตจากยุโรปและแยกเยอรมนีซึ่งลงนามเป็นพันธมิตรกับสหภาพโซเวียตในสนธิสัญญาราปัลโล (Treaty ofRapallo) ค.ศ. ๑๙๒๒ ออกจากสหภาพโซเวียต ต่อมา ในต้น ค.ศ. ๑๙๓๖ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler ค.ศ. ๑๘๘๙-๑๙๔๕)* ผู้นำ พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party - NSDAP; NAZI)* ประกาศให้สนธิสัญญาโลคาร์โนเป็นโมฆะ และส่งกำลังทหารเข้ายึดครองเขตปลอดทหารไรน์แลนด์ (Rhineland) เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ แม้การกระทำของฮิตเลอร์จะเป็นการละเมิดข้อตกลงในสนธิสัญญาแวร์ซายและสนธิสัญญาโลคาร์โนแต่อังกฤษและฝรั่งเศสก็ไม่ได้ตอบโต้ สนธิสัญญาโลคาร์โนจึงสิ้นสุดลงโดยปริยาย


สนธิสัญญาราปัลโลระหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียตเป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมระหว่างประเทศที่เมืองเจนัว (Genoa) ประเทศอิตาลี ในต้นเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๒๒ เพื่อหาแนวทางร่วมมือกันฟื้นฟูเศรษฐกิจของนานาประเทศในยุโรปภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ เยอรมนี และสหภาพโซเวียตได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมด้วย เพราะประเทศตะวันตกเห็นว่าความร่วมมือจากทั้ง๒ ประเทศจะมีส่วนทำให้เศรษฐกิจของยุโรปฟื้นตัวขึ้นในช่วงที่ มีการประชุมเกออร์กี วาซีเลวิช ชิเชริน (Georgi Vasilievich Chicherin)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่าง ประเทศของโซเวียตได้หาโอกาสเจรจาเป็นเอกเทศกับเยอรมนีที่ เมืองตากอากาศราปัลโลซึ่งไม่ไกลจากเมืองเจนัวมากนักเพื่อสร้างความ สัมพันธ์ทางการทูตและการค้า โดยแสดงท่าทีว่าหากเยอรมนีไม่ยอมลงนามในสนธิสัญญากับสหภาพโซเวียต สหภาพโซเวียตจะใช้เงื่อนไข ของสนธิสัญญาแวร์ซายมาตราที่ ๑๑๖ ซึ่งให้สิทธิรัสเซียที่ จะเรียกร้องค่าปฏิกรรมสงครามมาบังคับใช้กับเยอรมนีหากเยอรมนียอมทำสนธิ สัญญา ทั้ง๒ ประเทศจะล้มเลิกหนี้สินที่ มีต่อกันเยอรมนีจึงยอมลงนามในสนธิสัญญาราปัลโลเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน ค.ศ. ๑๙๒๒ สนธิสัญญาฉบับนี้กำหนดให้ทั้ง๒ ประเทศล้มเลิกหนี้สินและข้อเรียกร้องจากสงครามทั้งทางทหารและพลเรือนที่ มีต่อกันและจะร่วม มืออย่างใกล้ชิดทั้งทางเศรษฐกิจและการค้า ตลอดจนยอมรับสถานภาพการเป็นประเทศที่ ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง (most favoured nation) ระหว่างกันการตกลงแลกเปลี่ยนผู้แทนทางการทูตและการจัดตั้งสถานกงสุลในดินแดนของกันและกันรวมทั้งการจะหารือร่วมกันทุกครั้งก่อนจัดทำข้อตกลงสำคัญระหว่างประเทศ สนธิสัญญาราปัลโลไม่เพียงทำให้ทั้งเยอรมนีและสหภาพโซเวียตหลุดพ้นจากภาวะที่ ถูกแยกให้อยู่ โดดเดี่ยวเท่านั้นแต่ยังฟื้นความสัมพันธ์ของทั้ง๒ ประเทศซึ่งขาดสะบั้นตั้งแต่ปลาย ค.ศ. ๑๙๑๘ ทั้งยังเป็นการรับรองความสัมพันธ์ ดังกล่าวนี้อย่างเป็นทางการอีกด้วย

คำตั้ง
Locarno, Treaties of; Locarno Pacts
คำเทียบ
สนธิสัญญาโลคาร์โน; กติกาสัญญาโลคาร์โน
คำสำคัญ
- รูร์, แคว้น
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- คณะกรรมาธิการควบคุมทางทหารฝ่ายสัมพันธมิตร
- สาธารณรัฐไวมาร์
- ศาลยุติธรรมถาวรระหว่างประเทศ
- สนธิสัญญาโลคาร์โน
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- พรรคอนุรักษนิยม
- ไรน์แลนด์, เขตปลอดทหาร
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- มาโจเร, ทะเลสาบ
- บัลฟอร์, อาร์เทอร์ เจมส์ เอิร์ลที่ ๑ แห่งบัลฟอร์
- บอลด์วิน, สแตนลีย์
- พรรคแรงงาน
- ลอยด์ จอร์จ, เดวิด
- บรียอง, อาริสตีด
- แมกดอนัลด์, เจมส์ แรมเซย์
- กติกาสัญญาโลคาร์โน
- อัลซาซ-ลอร์แรน, แคว้น
- สตาลิน, โจเซฟ
- โลคาร์โน, เมือง
- แผนดอส์
- เชโกสโลวะเกีย
- ชเตรเซมันน์, กุสทาฟ
- สนธิสัญญาราปัลโล
- ชิเชริน, เกออร์กี วาซีเลวิช
- พรรคนาซี
- เจนัว, เมือง
- เชมเบอร์เลน, โจเซฟ ออสเตน
- สันนิบาตชาติ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1925
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๖๘
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 3.L 143-268.pdf